นทท.ร่วมงานผาสาดลอยเคราะห์ไหลเรือไฟออกพรรษาเชียงคาน

Last updated: 30 ต.ค. 2566  |  2383 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม 66 ณ ลานวัฒนธรรมเชียงคาน อ.เชียง จ.เลย นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานพิธีเปิดงานผาสาดลอยเคราะห์ ประจำปี 2566 มีหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน นักท่องเที่ยวนับหมื่นคนเข้าร่วมทำกิจกรรม

โดยกิจกรรมภายในงานได้มีการแสดงดนตรีพื้นบ้าน และชุดการแสดงต่างๆ มากมาย ท่ามกลางประชาชน และนักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้นำผู้เข้าร่วมงานทยอยนำผาสาดไปลอยยังแม่น้ำโขง ต่อด้วยการทำพิธีผูกข้อต่อแขน บายศรีสู่ขวัญ เรียกขวัญที่ไม่อยู่กับตัว ให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมทางพราหมณ์ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ผาสาดลอยเคราะห์ ถือเป็นพิธีกรรมโบราณที่ทำสืบทอดต่อกันมานับร้อยปีแล้ว โดยชาวเชียงคานในสมัยโบราณเชื่อว่า หากผู้ใดเห็นสิ่งไม่ดี สิ่งไม่เป็นมงคล หรือมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบเคราะห์ร้ายถึงแก่ชีวิต ให้ทำการลอยผาสาด เพื่อเป็นการลอยสิ่งไม่ดีทิ้งไป จะทำให้ชีวิตดีขึ้น มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา



 

สำหรับ “ผาสาด” นั้นทำมาจากกาบกล้วย มีการทำฐานให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตกแต่งด้วยกรวยใบตอง และดอกไม้ ส่วนดอกไม้ที่ใช้ตกแต่งนั้นเป็นขี้ผึ้ง หรือเทียน โดยในสมัยก่อนการตกแต่งด้วยดอกไม้นั้น จะไม่มีดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม คนโบราณจะนำมะละกอมาแกะสลักเป็นดอกไม้ แล้วนำไปชุบน้ำเทียน จากนั้นนำไปชุบน้ำ สลับไปมาจนกว่าจะหลุดออกจากกัน และนำมาตกแต่ง โดยผาสาดนั้นจะมี 2 ขนาดด้วยกัน คือ ขนาดเล็ก เรียกว่าผาสาดลอยเคราะห์ และขนาดใหญ่ เรียกว่าผาสาดสะเดาะเคราะห์ ซึ่งผาสาดลอยเคราะห์(ขนาดเล็ก) มักจะใช้กับการลอยเคราะห์ทั่วไป เช่นรู้สึกไม่ดี คิดว่าตัวเองจะมีเคราะห์ ก็จะลอยผาสาดโดยการใส่เส้นผม หรือใส่เล็บของตัวเองลงไป ส่วนผาสาดสะเดาะเคราะห์ จะใช้สำหรับคนที่มีเคราะห์ใหญ่ เจ็บป่วยเจียนตาย หรือชะตาขาด ก็จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์จากพราหมณ์ด้วย

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้